Blue House Website|Blue House Website

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

สารทเดือนสิบ


ประเพณีสารทเดือนสิบหรืองานบุญเดือนสิบ เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ

วันสารท เป็นวันที่ถือเป็นคติ และเชื่อสืบกันมาว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นจึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติในวันนี้ และเชื่อว่าหากทำบุญในวันนี้ไปให้ญาติแล้ว ญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ และมีโอกาสหมดหนี้กรรมและได้ไปเกิดหรือมีความสุข

ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบ จะมีขึ้นในวันแรม1ค่ำ ถึงแรม15ค่ำ เดือนสิบของทุกปี แต่สำหรับวันที่ชาวใต้มักนิยมทำบุญกันมาก คือ วันแรม 13-15ค่ำ ประเพณีวันสารทเดือนสิบโดยส่วนใหญ่แล้ว จะตรงกับเดือนกันยายน

ขนมงานบุญเดือนสิบ

ขนมที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของงานสารทเดือนสิบ ได้แก่

1.ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทน เรือ แพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพ เหตุเพราะขนมพองนั้น แผ่ดังแพ มีน้ำหนักเบา ย่อมลอยน้ำและขี่ข้ามได้

2.ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทน แพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม เหตุเพราะขนมลามีรูปทรงดั่งผ้าถักทอ พับ แผ่ เป็นผืนได้

3.ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทน ลูกสะบ้า สำหรับใช้เล่นต้อนรับสงกรานต์ การเล่นที่นิยมในสมัยก่อน

4.ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทน เงินเบี้ยสำหรับใช้สอย เหตุเพราะรูปทรงของขนมคล้ายเบี้ยหอย

5.ขนมกง(ไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ เหตุเพราะรูปทรงมีลักษณะคล้ายกำไลแหวน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น